กทพ. ชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทาง ทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถี ออกไปอีก 6 เดือน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ 2 สายทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ออกไปอีก 6 เดือน
โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทางด้านขนส่ง
อัตราค่าผ่านทางใหม่ ที่จะมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ อัตราค่าผ่านทางใหม่ ที่จะมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2567 จะปรับเป็นอัตราดังนี้
อัตราค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช
– รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 65 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 90 บาท
ยกเว้น ด่านฯ รามอินทรา 1 และด่านฯ สุขาภิบาล 5-2
– รถ 4 ล้อ 20 บาท รถ 6-10 ล้อ 35 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 45 บาท
อัตราค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี
– รถ 4 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะใช้อัตราค่าผ่านทางเดิม แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 บาท โดยคิดตามระยะทาง
– รถ 6-10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยคิดตามระยะทาง
– รถมากกว่า 10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 25 บาท โดยคิดตามระยะทาง
การปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งนี้ เป็นวิธีการปัดเศษให้ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5 บาท ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (Revenue Transfer Agreement : RTA) ที่กำหนดให้ปัดเศษให้ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5 บาทตามหลักคณิตศาสตร์ (หากคำนวณได้เกินกว่าหรือเท่ากับ 2.5 บาท จะปัดขึ้น 5 บาท แต่ถ้าคำนวณได้น้อยกว่า 2.5 บาท จะปัดลง)
การชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถีครั้งนี้ กทพ. โดยกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมหารือกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF โดยรับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าผ่านทาง จึงได้มีมาตราการชะลอการปรับอัตราค่าผ่านทางออกไป 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
ทางพิเศษฉลองรัช
-สายรามอินทรา – อาจณรงค์ มีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร มีเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา บริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 ลงทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 แล้วเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ข้ามถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการ เลียบแนวคลองตัน ข้ามถนนสุขุมวิททางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา – ท่าเรือที่บริเวณอาจณรงค์
-สายรามอินทรา – วงแหวนรอบนอกฯ มีระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เริ่มจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก บริเวณจตุโชติ ทิศใต้ของทางแยกต่างระดับลำลูกกา มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยกระดับข้ามถนนสุขาภิบาล 5 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนถึงถนนรามอินทรา บริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 เชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชช่วงรามอินทรา – อาจณรงค์ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางพิเศษฉลองรัชทางด้านเหนือ
ทางพิเศษบูรพาวิถี
มีระยะทาง 55 กิโลเมตร ใช้พื้นที่เกาะกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ตอนบางนา – บางปะกง ไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านอำเภอบางพลี ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านอำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ แล้วเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอบางปะกง ข้ามแม่น้ำบางปะกง และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองชลบุรี