ทางด่วนและทางพิเศษในประเทศไทย
‘ทางด่วน’ ที่เรามักเรียกกันติดปากในประเทศไทยนั้นปัจจุบันมีมากมายหลายเส้นทาง โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งเส้นทางที่ผ่าเมืองและเชื่อมต่อไปยังหัวมืองต่างๆ ช่วยทำให้ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งประชาชน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลาการเดินทาง โดยแต่ละแห่งจะมีหน่วยงานหรือองค์กรที่คอยกำกับดูแลเป็นของโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีราคาแตกต่างกันไปตามระยะทาง ดังนั้น วันนี้เราจึงพาไปทำความรู้จักกับ ‘ทางด่วน’ ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
‘ทางด่วน’ คือ ทางพิเศษที่กำกับดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
‘ทางด่วน’ คือ ทางพิเศษที่กำกับดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปัจจุบันมี 8 สาย ที่เปิดใช้งาน รวมระยะทางกว่า 224.60 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย
แผนที่โครงข่ายระบบทางพิเศษ (ภาพรวม Download 1) (Download 2)
1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร
-สายดินแดง-ท่าเรือ มีระยะทาง 8.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน ผ่านถนนสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และเป็นทางระดับดินตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนพระรามที่ 4 และเป็นทางยกระดับอีกครั้งในช่วงถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายดาวคะนอง – ท่าเรือ
-สายบางนา-ท่าเรือ มีระยะทาง 7.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 บริเวณทางแยกต่างระดับบางนา แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางระดับดินขนาด 6 ช่องจราจร และเป็นทางยกระดับตั้งแต่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิทถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ
-สายดาวคะนอง-ท่าเรือ มีระยะทาง 10.3 กิโลเมตร เริ่มจากทางแยกต่างระดับท่าเรือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางโคล่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 9 ช่วงนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และลดช่องจราจรเหลือ 4 ช่องจราจร ตั้งแต่สะพานพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2
2. ทางพิเศษศรีรัช ระยะทางรวม 38.4 กิโลเมตร
-ส่วน A มีระยะทาง 12.4 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษก ผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9
-ส่วน B มีระยะทาง 9.4 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) ผ่านยมราช ถนนศรีอยุธยา ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนพระรามที่ 4 สิ้นสุดแนวสายทางที่บริเวณบางโคล่
-ส่วน C มีระยะทาง 8 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ
-ส่วน D มีระยะทาง 8.6 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก สิ้นสุดที่บริเวณถนนศรีนครินทร์
3. ทางพิเศษฉลองรัช
-สายรามอินทรา – อาจณรงค์ มีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร มีเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา บริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 ลงทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 แล้วเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ข้ามถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการ เลียบแนวคลองตัน ข้ามถนนสุขุมวิททางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา – ท่าเรือที่บริเวณอาจณรงค์
-สายรามอินทรา – วงแหวนรอบนอกฯ มีระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เริ่มจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก บริเวณจตุโชติ ทิศใต้ของทางแยกต่างระดับลำลูกกา มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยกระดับข้ามถนนสุขาภิบาล 5 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนถึงถนนรามอินทรา บริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 เชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชช่วงรามอินทรา – อาจณรงค์ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางพิเศษฉลองรัชทางด้านเหนือ
4. ทางพิเศษบูรพาวิถี
มีระยะทาง 55 กิโลเมตร ใช้พื้นที่เกาะกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ตอนบางนา – บางปะกง ไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านอำเภอบางพลี ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านอำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ แล้วเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอบางปะกง ข้ามแม่น้ำบางปะกง และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองชลบุรี
5. ทางพิเศษอุดรรัถยา
-แจ้งวัฒนะ – เชียงราก (ระยะที่ 1) มีระยะทางกว่า 22 กิโลเมตร เริ่มต้นเชื่อมต่อที่ปลายทางพิเศษศรีรัช บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านเมืองทองธานี จากนั้นเข้าสู่อำเภอเมืองปทุมธานี ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 แล้วข้ามคลองเชียงราก ไปถึงบางพูน เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ก่อนที่จะลดระดับเป็นทางระดับดินขนาด 4 ช่องจราจร โดยมีรั้วกั้นตลอด จากนั้นเข้าสู่อำเภอสามโคก ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3241
-เชียงราก – บางไทร (ระยะที่ 2) มีระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับระยะที่ 1 ที่เชียงราก เส้นทางโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอบางไทร ข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 แล้วไปสิ้นสุดบริเวณกิโลเมตรที่ 79 ของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของกรมทางหลวงช่วงอำเภอบางไทร
6. ทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์
มีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษฉลองรัช และซ้อนทับตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครจากทางแยกต่างระดับอาจณรงค์เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทางรวม 4.7 กิโลเมตร
7. ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์)
มีระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร เป็นทางต่อเชื่อมกับทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงถนนพระรามที่ 2 – ถนนสุขสวัสดิ์ โดยริ่มต้นจากถนนสุขสวัสดิ์บริเวณพระประแดง ผ่านสะพานกาญจนาภิเษกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางแยกเชื่อมต่อกับสะพานภูมิพล ไปทางทิศตะวันออกผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา – บางปะกง) เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถีที่ทางแยกต่างระดับวัดสลุด อำเภอบางพลี
8. ทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
มีระยะทาง 16.7 กิโลเมตร เริ่มจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครบริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ไปตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีกลางบางซื่อ โดยเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2
‘มอเตอร์เวย์’ คือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกำกับดูแลโดยกรมทางหลวง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 สายทาง ได้แก่
1. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นเส้นทางกรุงเทพฯ – ชลบุรี – พัทยา สายใหม่ (มอเตอร์เวย์)
มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง 9 ด่าน คือ ด่านฯ ลาดกระบัง บางบ่อ บางปะกง พนัสนิคม บ้านบึง บางพระ หนองขาม โป่ง และ ด่านฯ พัทยา มีระยะทางรวม 125.9 กิโลเมตร
2. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เป็นเส้นทางสายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (ตอนบางปะอิน – บางพลี)
มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง 4 ด่าน คือ ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 ด่านทับช้าง 1 และ ด่านทับช้าง 2 มีระยะทางรวม 131 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษพัทยา – มาบตาพุด
‘โทลล์เวย์’ หรือ ทางยกระดับอุตราภิมุข
‘โทลล์เวย์’ หรือทางยกระดับอุตราภิมุข อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง มีระยะทางประมาณ 28 กม. ดังนี้..
-ด่านขาออก (การจราจรมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ)
ช่วงดินแดง – ดอนเมือง ประกอบด้วย ด่านดินแดง, ด่านสุทธิสาร, ด่านลาดพร้าวขาออก, ด่านรัชดาภิเษก และด่านบางเขน
ช่วงอนุสรณ์สถาน – รังสิต ประกอบด้วย ด่านหลักสี่ขาออก และด่านอนุสรณ์สถาน
-ด่านขาเข้า (การจราจรมุ่งหน้าไปทางทิศใต้)
ช่วงอนุสรณ์สถาน – ดินแดง ประกอบด้วย ด่านดอนเมือง
ช่วงดอนเมือง – ดินแดง ประกอบด้วย ด่านหลักสี่ขาเข้า, ด่านแจ้งวัฒนะ และด่านลาดพร้าวขาเข้า
นอกจากนี้ ยังมีทางพิเศษอีกหลายโครงการที่รัฐกำลังเร่งดำเนินการสร้างและผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับกับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างราบรื่น นำไปสู่การยกระดับระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้คือรวมทางด่วนและทางพิเศษทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อที่นักขับมือใหม่จะได้วางแผนและศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันการหลงทางหรือขึ้นทางด่วนผิดสาย ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลงไปโดยเปล่าประโยชน์ และระหว่างทางต้องหมั่นสังเกตเครื่องหมายจราจร เช่น ป้ายเตือน ป้ายบอกทาง ป้ายจำกัดความเร็ว พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะทางด่วนหรือทางพิเศษ เป็นเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ดังนั้น จึงต้องขับรถตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางได้
แหล่งอ้างอิง : https://www.bangkokbanksme.com/en/including-expressways-new-drivers-must-understand,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรมทางหลวง
รูป : google map