คืบหน้า รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน
การรถไฟฯ อัพเดทความก้าวหน้าก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน พร้อมเปิดใช้งานเดือนกันยายน นี้ เพิ่ม 3 โครงการ เริ่มจากสถานีนครปฐม ถึง สถานีสะพลี จังหวัดชุมพร
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้ลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 นั้น นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการกำกับ ติดตามดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่กำหนด และส่งผลให้ขณะนี้การดำเนินโครงการต่างๆ มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
โครงการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้แล้ว 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย
2. โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น
โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและใกล้แล้วเสร็จ จำนวน 3 โครงการ
ได้แก่ โครงการช่วงนครปฐม – หัวหิน โครงการช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ซึ่งมีรายละเอียด ได้แก่
1. โครงการช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญา 1 นครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. ผลงาน 97.183% ส่วนสัญญา 2 หนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม. ผลงาน 97.535%
2. โครงการช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ผลงาน 99.999%
3. โครงการช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญา 1 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. ผลงาน 93.510% สัญญา 2 บางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กม. ผลงาน 96.523% และส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณสายใต้ ระยะทาง 420 กม. ผลงาน 48.147%
ทั้งนี้ ในภาพรวมของทั้ง 3 โครงการ ในส่วนของงานโยธาได้ดำเนินการใกล้เสร็จครบทั้งหมด และเริ่มมีการทดลองเปิดใช้ทางคู่ใหม่บางช่วงเพื่อทดสอบระบบทางไปแล้ว จากนั้นการรถไฟฯ มีแผนเปิดใช้งานจริงช่วงเดือนกันยายน 2566 โดยเริ่มจากสถานีนครปฐม ถึงสถานีสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร จากนั้นจะขยายไปจนถึงปลายทางที่สถานีชุมพรในปลายเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปกับงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และตั้งเป้าหมายจะเปิดใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 2568
โครงการรถไฟที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 โครงการ
ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีรายละเอียด ดังนี้
1. โครงการช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญา 1 บ้านกลับ-โคกกะเทียม ระยะทาง 32 กม. ผลงาน 86.67% สัญญา 2 ท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. ผลงาน 78.44% ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณ สายเหนือ ระยะทาง 148 กม. ผลงาน 32.160%
2. โครงการช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. ผลงาน 96.220% สัญญา 2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ1 ระยะทาง 69 กม. ยังไม่ได้ลงนามสัญญา สัญญา 3 อุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 5 กม. ผลงาน 98.137% ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 132 กม. ผลงาน 21.560%
โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
ในช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ขณะนี้มีแผนก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 สัญญา ดังนี้
1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ผลงาน 0.934% สัญญา 2 ช่วงงาว –เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ผลงาน 2.157% สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ผลงาน 1.485%
2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ผลงาน 0.112% สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ผลงาน 0.007%
นายเอกรัช กล่าวต่อว่า เมื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง และเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นทางแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนทางคู่ทั่วประเทศมากถึง 10 เท่า หรือคิดเป็น 65 % ของระยะทางรวมทั้งหมด มากกว่าเดิมที่มีทางคู่เพียง 6 % อีกทั้งยังช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางได้ 1–1.50 ชั่วโมง รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำกว่า ตลอดจนเชื่อมโยงกับขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
นอกจากนี้
การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพิ่มเติมอีก 7 เส้นทาง
ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย
ช่วงขอนแก่น – หนองคาย
ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี
ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี
ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา
และช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์
ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อรอเสนออนุมัติโครงการแล้ว ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ รวมถึงกำลังทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เช่นกัน
ทั้งนี้ หากโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้การรถไฟฯ มีรถไฟทางคู่ครอบคลุมการเดินทางได้มากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ มีเส้นทางคู่รวมกันมากกว่า 3,000 กม. ภายในปี 2572 ซึ่งจะสามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว สามารถทำความเร็วในการขนส่งสินค้าได้จากเดิม 29 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และทำความเร็วในการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจากเดิม 50 กม./ชม. เป็น 100-120 กม./ชม. โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ได้มหาศาล อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่สำคัญรถไฟทางคู่ยังช่วยกระจายโอกาสทางสังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป