ศาลยกฟ้อง สุดท้ายก็รวมกันได้ “ซีพี รีเทล” กับ “เทสโก้ โลตัส”
ศาลปกครองกลาง พิจารณา การควบรวมธุรกิจระหว่าง “ซีพี รีเทล” กับ “เทสโก้ โลตัส” ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยองค์การเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีมีคำวินิจฉัยอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง “ซีพี รีเทล” และ “เทสโก้ โลตัส” ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2560 และ ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยศาลปกครองกลางให้เหตุผลว่า
เมื่อพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริง เหตุผล หลักเกณฑ์ วิธีการ และข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจเป็นการใช้ดุลพินิจโดยแท้ของฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้ที่มีผลงาน หรือ เคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของฝ่ายปกครอง ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจตรวจสอบอำนาจการใช้ดุลพินิจโดยแท้ของฝ่ายปกครองได้
และเมื่อไม่ปรากฎเหตุอื่นใดอันทำให้คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่ 93/3563 เรื่อง ผลการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 จึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
อ่านคำพิากษาฉบับเต็ม
ก่อนการวินิจฉัย ทางศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้องค์กรผู้บริโภคส่งคําชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบถึงเหตุผลที่ว่า หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองไว้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดความเสียหายอย่างไร
โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภคได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลปกครองไปเช่นกัน โดยระบุว่า หากปล่อยให้รวมกิจการต่อไปจะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจตลาดค้าปลีกได้ครบวงจร ส่งผลให้เกิดการผูกขาด ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการค้าปลีกขนาดเล็กจนต้องเลิกกิจการ
คำชี้แจงต่อศาลปกครอง ของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เผยแพร่คำชี้แจงผ่านเพจเฟสบุ๊ก ชื่อ”มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ
เมื่อมีการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทสะท้อนให้เห็นว่าหลังรวมธุรกิจจะทำให้สามารถครอบงำตลาดค้าปลีกได้ทุกประเภท นอกจากนี้ เมื่อรวมกับธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่จะส่งผลให้ทั้งสองบริษัทมีอำนาจผูกขาดตลาดตั้งแต่ต้นน้ำถึง ปลายน้ำ ซึ่งเป็นการผูกขาดตลาดในแนวดิ่ง คือ แม้บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด จะประกอบกิจการในตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ แต่ก็ยังเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ทางนโยบายกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เสมือนหนึ่งเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน ซึ่งในเครือธุรกิจดังกล่าวนั้นประกอบธุรกิจในตลาดค้าส่งสมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) กิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าบริโภค กิจการด้านกลุ่มการเกษตรและ ปศุสัตว์ และธุรกิจการขนส่งสินค้า สุดท้ายหากปล่อยให้มีการกระจุกตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งการรวมธุรกิจ การขยายสาขา การมีอำนาจเหนือตลาด จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องถูกกีดกันออกจากตลาดการแข่งขันทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในตลาดค้าปลีก และไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นในตลาด
นอกจากนี้ การรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกขนาดเล็กน้อยลง เนื่องจากการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้ทั้งสองบริษัทมีอำนาจเหนือตลาดมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีอำนาจเหนือตลาดก็ยังส่งผลให้มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า รวมถึงชนิด และปริมาณของสินค้าที่จําหน่ายได้ จากรายงานการวิจัยของศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศกําลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ประกอบกับปัญหาข้อจํากัดด้านเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ รวมถึงปัญหาสภาพคล่องซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีอยู่มากที่สุดจำนวน 8.95 แสนราย จากผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหมด 9.05 แสนราย หากคำสั่งรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทยังดำเนินการต่อไปจะทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กทยอยปิดตัวลงจนไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการในตลาดค้าปลีกขนาดเล็กได้ดังเดิม
และตามรายงานการวิจัยของ Ennis, Gonzaga, และ Pike (2019) ที่ศึกษาข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า อำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้มีอำนาจตลาดกล้าขึ้นราคาสินค้าและคว้ากําไรเพิ่มขึ้น ผลก็คือ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เมื่อมีอำนาจเหนือตลาดก็ย่อมมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบที่ เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น OTOP ซึ่งหากยังปล่อยให้มีการรวมกิจการต่อไปก็จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นจนไม่อาจกลับไปแก้ไขได้
อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)หรือบอร์ดแข่งขันทางการค้า มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 อนุญาตให้บริษัทซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมธุรกิจกับบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลว่าการรวมธุรกิจทำให้มี อำนาจตลาดเพิ่มแต่ไม่ผูกขาด และจำเป็นต้องควบรวมตามควรทางธุรกิจ
ต่อมาวันที่ 15 มี.ค.2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องบอร์ดแข่งขันทางการค้า และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อศาลปกครองกลาง กรณีมีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ซีพี – เทสโก้ อาจขัดกฎหมาย