พิกัด ชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ฝุ่นละออง ดาวหางฮัลเลย์ได้ด้วยตาเปล่า
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ออกมาประกาศว่า วันนี้ (21 ต.ค. 66) สามารถรับชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ฝุ่นละออง ดาวหางฮัลเลย์ได้ด้วยตาเปล่า “ทางด้านตะวันออก” ตั้งแต่ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า และแนะนำให้ไปที่จุดชมวิวที่ท้องฟ้ามืดสนิท ห่างจากตัวเมือง เพื่อรับชม
ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีของการเฝ้ารอชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 22:00 น. จึงสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกโอไรออนิดส์ได้ตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้า แนะนำสถานที่ชมให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิทเพื่อให้แสงรบกวนน้อยที่สุด สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมความสวยงามของดาวตกโอไรออนิดส์ได้ทั่วประเทศ
ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า
การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพราน ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก แม้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียง 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีความสว่างโดดเด่นบนฟ้า หากสามารถบันทึกภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงามเคียงข้างกลุ่มดาวนายพราน อีกทั้งยังเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยดี จึงเหมาะแก่การเฝ้ารอชมและถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจถ่ายภาพฝนดาวตก สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก ทำให้เราเห็นดาวตกวิ่งช้าและมีโอกาสถ่ายภาพฝนดาวตกหางยาวได้ง่าย
โดยเราสามารถไปรับชมได้ที่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด หรือ Amazing Dark Sky #Season 2 แห่งใหม่อีก 18 แห่ง ได้แก่
อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)
1. อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จังหวัดกำแพงเพชร
2. อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกางเต็นท์กลางดง) จังหวัดสระแก้ว
3. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
4. อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จังหวัดน่าน
5. วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จังหวัดอุบลราชธานี
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)
1. Mela Garden Retreat Cottage จังหวัดสระบุรี
2. Khirimala Eco Camp จังหวัดราชบุรี
3. ฟาร์มแสงสุข จังหวัดระยอง
4. ไร่เขาน้อยสุวณา จังหวัดนครราชสีมา
5. ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จังหวัดเชียงใหม่
6. Villa De View – Boutique Residence at Chiang Dao จังหวัดเชียงใหม่
7. เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จังหวัดเชียงใหม่
8. บ้านสวนป่าโป่งดอย จังหวัดเชียงใหม่
9. The Teak Resort จังหวัดเชียงใหม่
10. พูโตะ จังหวัดเชียงใหม่
11. อ่าวโต๊ะหลี จังหวัดพังงา
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs)
1. สวนสัตว์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
2. Summit Green Valley Chiangmai Country Club จังหวัดเชียงใหม่
ที่มาข่าว > darksky.narit.or.th