รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์และวิ่งตามถนนติวานนท์ผ่านหน้าสถาบันโรคทรวงอกแยกสนามบินน้ำและวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จนถึงบริเวณ 5 แยกปากเกร็ด
จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะผ่านศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ผ่านแยกหลักสี่ โดยลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) ข้ามแยกหลักสี่และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทราและยกระดับข้ามทางด่วนพิเศษฉลองรัชที่บริเวณแยกวัชรพลแล้ววิ่งไปจนถึงแยกมีนบุรี จากนั้นวิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ ข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและเข้าสู่ถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 รวมมีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานีและศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว ในรูปแบบรถไฟฟ้าแบบ ‘โมโนเรล’ เหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โดยข้อดีของรถไฟฟ้าแบบ ‘โมโนเรล’ คือการรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก ประมาณ 28,000 คน/ทิศทาง แต่ก็มีข้อเสียสำหรับการใช้งานในเมืองอยู่ตรงความเร็วของการเดินรถสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เชื่อมต่อโครงข่าย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีไปสิ้นสุดที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายที่สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างโครงการได้ 4 จุด มีรายละเอียดดังนี้
จุดที่ 1 PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
จุดที่ 2 PK14 สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
จุดที่ 3 PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ตูคต
จุดที่ 4 PK30 สถานีมีนบุรี สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี
สถานีรายทาง มีรายละเอียดดังนี้
สถานี | ที่ตั้ง |
PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี | สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิmเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ |
PK02 สถานีแคราย | ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก |
PK03 สถานีสนามบินน้ำ | ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ |
PK04 สถานีสามัคคี | ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี |
PK05 สถานีกรมชลประทาน | ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา |
PK06 สถานีแยกปากเกร็ด | ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ |
PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด |
PK08 สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 |
PK09 สถานีศรีรัช | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี |
PK10 สถานีเมืองทองธานี | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ |
PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14 | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะและซอยแจ้งวัฒนะ 14 |
PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงศุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 |
PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ | ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7 |
PK14 สถานีหลักสี่ | ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk) |
PK15 สถานีราชภัฏพระนคร | สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร |
PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ | ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk) |
PK17 สถานีรามอินทรา 3 | สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก |
PK18 สถานีลาดปลาเค้า | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า |
PK19 สถานีรามอินทรา กม.4 | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37 |
PK20 สถานีมัยลาภ | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ |
PK21 สถานีวัชรพล | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61 |
PK22 สถานีรามอินทรา กม.6 | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42 |
PK23 สถานีคู้บอน | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46 |
PK24 สถานีรามอินทรา กม.9 | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56 |
PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade |
PK26 สถานีนพรัตน์ | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์ |
PK27 สถานีบางชัน | ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115 |
PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ | ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123 |
PK29 สถานีตลาดมีนบุรี | สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2 |
PK30 สถานีมีนบุรี | ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ได้ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk) |
การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นๆ
- จุดที่ 1 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
- จุดที่ 2 สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
- จุดที่ 3 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
- จุดที่ 4 สถานีมีนบุรี สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี
Monorail ของโครงการสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะใช้เป็นขบวนรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier INNOVIA Monorail 300 วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง รองรับผู้โดยสาร 28,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ซึ่งเป็นรุ่นที่มีความทันสมัยและมีการใช้งานในหลายประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ราคา เท่าไร ?
ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดว่าอยู่ที่ 14-42 บาท ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้กำหนด
ส่วนต่อขยายเมืองทอง ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี คาดได้ใช้ปี 68
ในด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3.2 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 68
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี มี 2 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอิมแพ็คฯ
- สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) ตั้งอยู่บริเวณข้างทะเลสาบเมืองทองธานี ใกล้ธันเดอร์โดม
ซึ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบนถนนแจ้งวัฒนะ โดยแยกออกจากเส้นทางสายหลักที่สถานีศรีรัช ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีอิมแพ็คฯ และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี เป็นที่ตั้งของสถานีทะเลสาบฯ
ขอบคุณที่มา : https://www.mrta.co.th/